เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556
วัดพลับ หรือชื่อเป็นทางการว่า “วัดราชสิทธาราม” เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (ฝั่งธนบุรี) นับเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและพระบูชา เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดพระเนื้อผงที่เรียกได้ว่าเป็นยอดนิยม เรียกขานกันในนาม “พระวัดพลับ”
มีเรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมา ถึงต้นสายปลายเหตุของการค้นพบว่า …
กาลครั้งหนึ่ง ได้มีกระรอกเผือกตัวหนึ่งมาวิ่งเล่นอยู่ที่บริเวณลานวัดพลับ ด้วยความสวยงามของมัน เป็นที่สะดุดตาของพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้านในบริเวณนั้นอย่างมาก จึงช่วยกันไล่จับ เจ้ากระรอกเผือกก็ได้หนีเข้าไปในโพรงพระเจดีย์ ชาวบ้านก็ช่วยกันกระทุ้งโพรงเพื่อให้กระรอกเผือกออกมา แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ได้ปรากฏพระพิมพ์จำนวนมากไหลออกมาจากโพรงพระเจดีย์ ถึงขนาดต้องเอากระบุงหลายใบมา รองใส่และเก็บรักษาไว้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการแตกกรุครั้งแรกและครั้งยิ่งใหญ่
ต้องขอบคุณเจ้ากระรอกเผือกตัวน้อย ที่นำพาไปพบกับสุดยอดวัตถุมงคล ‘พระวัดพลับ‘ และนี่ก็คงเป็นที่มาของชื่อกรุพระเจดีย์ว่า ‘กรุกระรอกเผือก’ นั่นเอง
ต่อมาท่านเจ้าอาวาสวัดพลับจึงเปิดกรุพระเจดีย์อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่ามีโพรงใหญ่อยู่กลางพระเจดีย์ และพบ “พระวัดพลับ” อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบ “พระสมเด็จอรหัง” อีกจำนวนหนึ่งด้วย มีทั้งพิมพ์สามชั้นและพิมพ์ฐานคู่ สำหรับพระสมเด็จอรหังนั้น สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้าง
ก่อนที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จจะไปครองวัดมหาธาตุเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดพลับมาก่อน ประกอบกับพระวัดพลับเป็นพระเนื้อผงสีขาว และมีส่วนผสมคล้ายคลึงกับพระสมเด็จอรหังมาก จึงสันนิษฐานได้ว่า “พระวัดพลับ” ก็น่าจะสร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เจ้าตำรับพระผงเช่นกัน
เนื้อหามวลสารของพระวัดพลับและพระสมเด็จวัดระฆังฯ จะดูคล้ายคลึงกันมาก คือ เนื้อขององค์พระเป็นสีขาว มีความหนึกนุ่ม และมีรอยแตกร้าวแบบไข่นกปรอท จะมีความแตกต่างกันตรงที่พระวัดพลับบางองค์จะมีรอยรานของเนื้อพระอันเกิดจากความร้อน ซึ่งพระสมเด็จวัดระฆังฯจะไม่ปรากฏรอยรานเลย แต่ก็ไม่ถือเป็นเอกลักษณ์สำหรับพระวัดพลับทุกองค์
การพิจารณาผิวของ “พระวัดพลับ” ที่บรรจุอยู่ในกรุเจดีย์กระรอกเผือกเป็นเวลานานนับร้อยกว่าปีนั้น ให้ดูที่สีผิวขององค์พระจะค่อนข้างขาว ปรากฏเป็นคราบน้ำ ตกผลึกเป็นสีขาวและสีเหลืองอ่อนเจือปนที่เรียกกันว่า ‘ฟองเต้าหู้’ สันนิษฐานว่า เกิดจากคราบน้ำในกรุหรือคราบน้ำฝนที่รั่วไหลเข้าไปในกรุ ทำปฏิกิริยากับเนื้อพระที่มีส่วนผสมของปูนขาว เมื่อกาลเวลาผ่านไปจึงเกิดเป็นหินปูน พระบางองค์ดูเหมือนมีเนื้องอกขึ้นจากพื้นผิวขององค์พระเป็นเม็ดๆ อันเกิดจากสภาพของกรุพระเจดีย์ ซึ่งตอนกลางวันได้รับความร้อน พระในกรุก็จะอมความร้อนไว้ เมื่อกระทบกับน้ำที่ซึมเข้ามาในกรุผสมกับปูนขาว จึงกลายเป็นปูนเดือดบนองค์พระและตกตะกอนเป็นเม็ดๆ คล้ายเนื้องอก แต่จะเป็นที่พื้นผิวเท่านั้นไม่ได้เกิดจากเนื้อขององค์พระ เมื่อขูดเอาเนื้องอกส่วนนั้นออก ผิวขององค์พระก็จะเรียบเหมือนเดิมทุกประการ
พระวัดพลับที่พบมีมากมายหลายพิมพ์ และได้รับการขนานนามกันไปต่างๆ ตามพุทธลักษณะขององค์พระ อาทิ พิมพ์วันทาเสมา หรือพิมพ์ยืนถือดอกบัว, พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่, พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ชะลูด, พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก, พิมพ์พุงป่องใหญ่ พิมพ์ 1, พิมพ์พุงป่องใหญ่ พิมพ์ 2, พิมพ์พุงป่องเล็ก เข่าชั้นเดียว, พิมพ์พุงป่องเล็ก เข่าสองชั้น, พิมพ์สมาธิใหญ่, พิมพ์สมาธิใหญ่ แขนโต, พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง, พิมพ์พระภควัมบดีใหญ่, พิมพ์พระภควัมบดีเล็ก ฯลฯ
นอกจากจะพบที่ ‘กรุกระรอกเผือก วัดพลับ’ แล้ว ได้มีการค้นพบบรรจุอยู่ใน ‘กรุพระเจดีย์ วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี’ สันนิษฐานว่า ได้มีการนำไปบรรจุไว้แต่มีจำนวนไม่มากนัก และเนื่องด้วยสภาพกรุพระเจดีย์ทั้งสองแตกต่างกัน ส่งผลให้สภาพพื้นผิวขององค์พระทั้งสองวัดมีความแตกต่างกัน คือ “พระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก วัดพลับ” องค์พระจะเป็นสีขาว และมักจะมีฟองเต้าหู้หรือเนื้องอก
ส่วน “พระวัดพลับ กรุวัดโค่ง” ผิวขององค์พระจะมีขี้กรุสีน้ำตาลแก่ และขี้กรุจะแข็งมากเหมือนกับขี้กรุของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม
ถึงแม้การสร้างองค์พระของ ‘พระวัดพลับ‘ จะดูแบบง่ายๆ ไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย เมื่อมองแล้วจะเกิดความรู้สึกลึกซึ้งนุ่มนวล ซึ่งอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งนอกเหนือจากความเก่าและพุทธคุณอันเลิศล้ำ ที่ทำให้พระวัดพลับได้รับความนิยมอย่างสูง
ปัจจุบันแทบจะหาดูหาเช่ายากเอามากๆ ทีเดียว
ที่มา: ข่าวสด