เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
พระเครื่องหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน (วังตะโก) ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งอีกรุ่นหนึ่งรองจากรุ่นแรกก็คือ “รุ่นปี 2515” ด้วยเหตุที่สร้างคาบเกี่ยวระหว่างปี พ.ศ.2514 กับ 2515 จึงมีการทำโค้ดวงกลมเป็นเลขไทย ๑๔ ขีด ๑๕ วันนี้ก็จะขออนุญาตพูดถึง “วิธีการดูเหรียญจอบใหญ่ ปี”15 อย่างง่ายๆ กันก่อน ซึ่งเหรียญนี้สนนราคาปัจจุบันขึ้นเป็นหลักแสนแล้ว ทั้งที่ตอนออกสร้าง 10,000 เหรียญ ให้บูชาแค่ 25 บาทเอง
ในใบรายการจัดสร้างของทางวัดระบุว่า มีสร้างรูปเหมือนบูชา 5 นิ้ว 1,000 องค์ บูชา 3 นิ้ว 1,000 องค์, กริ่งลอยองค์รูปหลวงพ่อเงินทองคำหนัก 1 บาท กริ่งลอยองค์รูปหลวงพ่อเงิน อัลปาก้า 5,000 องค์, กริ่งลอยองค์หลวงพ่อเงิน ทองเหลือง 5,000 องค์ เหรียญปั๊มจอบใหญ่ 10,000 องค์ เหรียญปั๊มจอบเล็ก 10,000 องค์ เหรียญขวัญถุง กะไหล่ทอง กะไหล่เงิน อย่างละ 5,000 เหรียญ, เหรียญรูปไข่ด้านหน้าหลวงพ่อเงิน ด้านหลังหลวงพ่อเปรื่อง เนื้อทองคำหนัก 1 บาท และ 2 สลึง เนื้ออัลปาก้า เนื้อทองแดง รวม 10,000 เหรียญ
นอกเหนือจากนี้ยังมี แหวน ผ้ายันต์ แผ่นโลหะ พระเนื้อดินพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ ซึ่งบางส่วนให้บูชา บางส่วนบรรจุกรุเจดีย์ในวัดบางคลาน
เหรียญจอบใหญ่ 15 นี้ เป็นเหรียญปั๊มเนื้อทองเหลือง กะไหล่ทอง ด้านหน้าทำเป็นรูปหลวงพ่อเงินคมชัด ขอบข้างเป็นสองชั้น มีเม็ดไข่ปลาเหมือนเหรียญหล่อรุ่นแรก หูในตัว ใส่ห่วงต่างหาก มีตัวอักษรด้านล่างว่า “หลวงพ่อเงิน” เป็นเส้นเอนๆ ส่วนด้านหลัง เป็น “ยันต์น้ำเต้า” ด้านบนเป็น “อุณาโลม” และ “ยันต์ตัว นะ” ประกอบอักษรโค้งด้านล่างว่า “หลวงพ่อ เงิน ๒๕๑๕” ผิวเหรียญแท้จะแน่นตึง
ด้านหน้าบนผิวแผ่นสังฆาฏิด้านบนใกล้กับหัวไหล่ จะมีเส้นเป็นเสี้ยนวิ่งกระจายทั่วๆ ไป เหมือนกับพื้นเหรียญที่กะไหล่จาง จะมีเส้นเป็นประกายเกิดจากรอยปั๊ม อันนับเป็นธรรมชาติของเหรียญปั๊ม ข้างหูขวาท่านติดกับเส้นขอบในจะมีเม็ดเกินปรากฏอยู่ และใต้ตัว “ง” คำว่า หลวงพ่อ ด้านหน้า จะมีติ่งเนื้อเกินงอกออกมาเช่นเดียวกับเส้นติ่งเล็กๆ เหนือมือที่ประสานกันบริเวณหน้าตักท่าน และให้ดูตรงขาขวาที่นั่งขัดสมาธิจะมีรอยผ้ายับทแยงตั้งแต่หลังมือซ้ายลงมาผ่านรอยพับของผ้านุ่งอย่างชัดเจน
เนื่องจากเป็นเหรียญปั๊ม ด้านหลังมักจะมีรอยครีบหรือขอบปลิ้น บริเวณริมขอบเหรียญและในช่องหู เหนือ “ยันต์ตัว นะ” ด้านบนให้ส่องดูจะมีเส้นแตกแผ่วๆ ลากตรงผ่ากลางตัว “นะ” และใน “ตัวอุณาโลม” จะมีเส้นขยักของยันต์แหลมคม ส่วน “ยันต์น้ำเต้า” แถวที่สองด้านบนซ้ายมือของเราตรงส่วนโค้งจะมีเนื้อเกินเล็กน้อยอยู่ด้านใน ตัวอักษรจะคมชัดเจนสวยงาม
รายนามพระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกในครั้งนั้นได้แก่ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร, หลวงพ่อเงิน วัดอินทร วิหาร, หลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ฯ, หลวงพ่อเปรื่อง เจ้าอาวาสวัดบางคลาน, หลวงพ่อเตียง วัดเขารูปช้าง ฯลฯ และมีเหตุการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดตลอดพิธีจนเป็นที่เลื่องลือครับผม
ที่มา: ข่าวสด